MEGA Tech Magazine

สถาบันยานยนต์ จับมือ เดลต้า พัฒนา SME ผนึกกำลังขานรับ 4.0 สู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไทย

1485866734

สถาบันยานยนต์ จับมือ เดลต้า พัฒนา SME
ผนึกกำลังขานรับ 4.0 สู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไทย

คลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเคลื่อนเข้ามาจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยียานยนต์จากเครื่องยนต์ที่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานไฟฟ้า ในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์สมัยใหม่ ผู้ประกอบการต้องมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและบุคลากรที่มีทักษะการผลิตสูงขึ้น สถาบันยานยนต์ ร่วมกับ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จัดงาน “อนาคตการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” สำหรับเอสเอ็มอีผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 70 ราย ในโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย พร้อมสานพลังประชารัฐเตรียมเปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี EV และเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า ช่วงกลางปี 2560

ปัจจุบันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์สร้างรายได้แก่ประเทศไทยปีละ 5 – 6 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะนี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกที่สำคัญในภูมิภาค ซึ่งเป็นการเข้ามาลงทุนของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก แนวโน้มกระแสตลาดโลกและรัฐบาลไทยปัจจุบันมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพื่อประสิทธิภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อตลาดชิ้นส่วนฯแตกต่างกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน 1 คัน มีชิ้นส่วนเครื่องยนต์มากกว่าชิ้นส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่า ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต อาทิ ท่อไอเสีย ระบบจ่ายน้ำมัน ถังน้ำมัน เกียร์ จะลดลงในอนาคต คาดว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะเริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป

นายวิชัย จิราธิยุต (Mr.Vichai Jirathiyut) ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า โครงการศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Hybrid, Plug-in hybrid, Battery EV และ Fuel cell) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมความรู้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการ ภาครัฐและประชาชนทั่วไป โดยในโครงการประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) การศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและสถานีประจุไฟฟ้า 2) การจัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าและรายงานศึกษาที่เกี่ยวข้อง และ 3) การสัมมนาและประชาสัมพันธ์โครงการเทคโนโลยียานยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง และ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากเดิมที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนมุ่งเน้นที่จะพัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการผลิต ลดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจไม่เพียงพอ โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนมีความจำเป็นที่จะต้องปรับกระบวนการผลิตให้สามารถรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัยของผู้ผลิตรถยนต์ได้ด้วย การจัดสัมมนาด้วยความร่วมมือจากเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เรื่อง “อนาคต การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” ในวันนี้จะเป็นกิจกรรม หนึ่งที่จะส่งผ่านข้อมูลและความรู้ไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย ได้เห็นภาพทั้งทฤษฎีและปฏิบัติครบทุกมิติ ทราบแนวทางการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลสถานภาพและแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนของไทยและอาเซียน การพัฒนาทักษะแรงงาน นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัย เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตชิ้นส่วนของไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในรูปแบบของการบรรยายทางวิชาการตลอดจนมีการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมโรงงานเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำอิเล็คทรอนิคส์ของโลกและเป็นผู้ผลิตเครื่องชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger)

มร.เซีย เชนเยน (Mr.Hsieh Shen-yen) ประธานบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในรูปแบบอุตสาหกรรม 4.0 สิ่งที่สำคัญในกระบวนการผลิตในโลกอนาคต คือ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หรือ Industrial Automation นับเป็นเทรนด์ของการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความทันสมัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ซึ่งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิตอล IoT สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์ และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 1.เครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation Machine) 2.โรงงานอัตโนมัติ (Factory Automation) และ 3.กระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Process Automation) โดยทุกหน่วยของระบบการผลิต ติดตั้งระบบเครือข่ายและฝังเซนเซอร์เพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เครื่องจักร หุ่นยนต์ ระบบ และโรงงาน เชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ช่วยให้สามารถแสดงผล ควบคุม บริหารจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อดีของระบบอินดัสเทรียล ออโตเมชั่น คือ ช่วยเพิ่มผลผลิต, ช่วยลดต้นทุน, รองรับงานหนัก งานทำซ้ำ งานเสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ หรืองานที่ต้องการความแม่นยำสูง ลดข้อผิดพลาด, เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์, ช่วยประหยัดพลังงาน เสริมศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ, สามารถผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม แต่ยังรักษาประสิทธิภาพการผลิตที่สูงในระดับเดียวกับการผลิตแบบคราวละมากๆ อาทิ การผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

โครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันยานยนต์ กับเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ พัฒนา SME ผนึกกำลัง ขานรับ 4.0 สู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไทย อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่จะพัฒนายกระดับ ประกอบด้วย 1.การจัดสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 และในวันที่ 25 ม.ค.2560 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน, อุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิต 4.0, ผลกระทบและการเตรียมตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยต่อสถานการณ์ปัจจุบัน, การเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไร รวมถึงมีกรณีศึกษาเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์ และการประหยัดพลังงานในกระบวนการผลิต เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิต 4.0 นำไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์สมัยใหม่ในอนาคต 2.โครงการเปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้าและศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี EV ณ สถาบันยานยนต์ บางปู เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ SME ชิ้นส่วนยานยนต์ และประชาชนทั่วไปได้สัมผัสกับเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กำหนดแล้วเสร็จในราวกลางปี 2560

 

Source: http://www.thaiauto.or.th/

Share this post
  , , ,